โรคข้อเท้าเสื่อม
(Ankle arthritis)
(Ankle arthritis)
พันโทชำนาญนิติ์
รุ้งพราย
หน่วยเท้าและข้อเท้า
กองออร์โธปิดิกส์
โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
บทนำและสาเหตุของโรค (Introduction and Etiology)
ภาวะข้อเท้าเสื่อม
เป็นภาวะที่พบได้ประมาณร้อยละ 1 ของประชากรผู้ใหญ่1 ซึ่งภาวะนี้ทำให้เกิดอาการปวด บวม
ข้อเท้าผิดรูป พิสัยของข้อเท้าลดลง และจะนำไปสู่ความพิการและทุพพลภาพ2-4นอกเหนือจากนั้น พบว่าผู้ป่วยที่มีข้อเท้าเสื่อมจะมีการลดลงของความสามารถทางร่างกายและสภาวะทางจิตใจอย่างน้อยเท่ากับผู้ป่วยข้อสะโพกเสื่อมในระยะสุดท้าย
(end-stage hip arthritis)2
สาเหตุของข้อเท้าเสื่อม
ส่วนมีสาเหตุมาจากการเกิดอุบัติเหตุ (post-traumatic arthritis) ร้อยละ 70 โรคไขข้ออักเสบ (inflammatory arthritis) ร้อยละ 12
และโรคข้อเท้าเสื่อมปฐมภูมิ (primary arthritis) ร้อยละ 7 ส่วนสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้เกิดได้ เช่น
ภาวะกระดูกอ่อนบาดเจ็บ (osteochondral lesion of tibia or talus or
osteonecrosis) โรคเลือเออกง่าย (hemophilia) หรือ
ภาวะความเจ็บป่วยของเส้นประสาท (neuropathic diseases) สำหรับรายละเอียดของการเกิดข้อเสื่อมจากอุบัติเหตุ
มีสาเหตุส่วนใหญ่จากการบาดเจ็บของข้อเท้าแบบบิดหมุน (rotational ankle
injury)1 และการหักของกระดูกข้อเท้า
(malleolar fracture)5 นอกเหนือจากนั้นพบว่าจะมีความสัมพันธ์ของการบาดเจ็บของข้อนั้นหรือข้อข้างเคียง
อย่างน้อย 1 ข้อกับอุบัติการของการเสื่อมของข้อเท้าร้อยละ 79.5
โดยเทียบกับข้อเข่าเสื่อมร้อยละ 9.8 และข้อสะโพกเสื่อมร้อยละ
1.66
อาการและอาการแสดง (Symptom and clinical
manifestation)
ผู้ป่วยจะมีอาการปวดที่บริเวณข้อเท้า อาการปวดจะค่อยเป็นค่อยไป
ตำแหน่งที่ปวดจะอยู่ลึกด้านในของข้อเท้า (deep aching) แต่อย่างไรก็ตาม อาการปวดอาจเกิดทางด้านหน้าได้
หากผู้ป่วยมีกระดูกงอกทางด้านหน้า (anterior ankle impingement) หรืออาการปวดทางด้านในและด้านนอกของข้อเท้า เนื่องจากการเสื่อมของข้อแบบเอียงเข้าใน
(varus) และเอียงออกนอก (valgus) อาการปวดอาจจะเพิ่มขึ้นหากอุณหภูมิเปลี่ยนแปลง
(weathermen) อาการปวดจะเพิ่มขึ้นตามกิจกรรมประจำวัน
(daily activities) หรือการออกกำลังกาย (sport activities) โดยในช่วงแรก (early stage) อาการปวดจะเกิดขึ้น
หากใช้ข้อเท้ามาก (higher loading) หรือระหว่างวัน (during
the day) แต่หากข้อเท้าเสื่อมมากขึ้น (advance stage) อาจจะปวดแม้ขณะพัก (at rest) หรือขณะหลับได้ (during
night time)7
การตรวจร่างกาย (Physical examination)
การตรวจร่างกายจะเริ่มจากการดูแนวของกระดูก
ตั้ง สะโพก เข่า ส้นเท้าและข้อเท้า (hip, knee, ankle, and hindfoot alignment) ในขณะที่ยืน
โดยน้ำหนักลงที่เท้าทั้งสองข้างเท่าๆ กัน เนื่องจากจะได้แนวกระดูกที่ตรงกับพยาธิสภาพมากที่สุด
(functional alignment) เมื่อเปรียบเทียบกับการไม่ลงน้ำหนักหรือลงน้ำหนักไม่เต็มที่ของเท้าทั้งสองข้าง
(supine or non-weight bearing alignment) อย่างไรก็ตามจากการศึกษาพบว่า
การดูแนวกระดูกจากลักษณะทางคลินิกให้ผลที่ถูกต้องน้อยกว่า ร้อยละ 50 ในผู้ป่วยที่มีข้อเท้าเสื่อมมาก (mid-stage to end-stage ankle
arthritis) อาจจะตรวจพบ การฝ่อของกล้ามเนื้อบริเวณขาท่อนล่าง8
นอกเหนือจากนั้นพบว่าพิสัยของข้อจะลดลง
(decrease ankle motion) ทั้งด้าน dorsiflexion และ plantar flexion และในขณะทำการตรวจวัดการเคลื่อนไหวของข้อ อาจจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดหรือตรวจพบเสียง
crepitus ได้9
อาการปวด (tenderness) จะกดเจ็บบริเวณจุดที่เกิดการเสื่อม
คือ บริเวณแนวข้อเท้า (ankle joint line) นอกเหนือจากนั้นอาการปวดอาจเกิดได้บริเวณ
ที่กระดูกมีการชนกัน (impingement) ในผู้ป่วยที่เป็น varus
จะกดปวดทางด้านใน (medial malleolus) หากเป็น valgus จะปวดบริเวณด้านนอก
(lateral malleolus)
การบวมบริเวณข้อเท้า (swelling) จะพบการบวมแบบกดบุ๋ม
(pitting edema) บริเวณข้อเท้าได้ แต่ในรายที่เป็นมากหรือมีโรคประจำตัว
อาจจะทำให้อาการบวมมากลงไปถึงเท้าได้หรือสูงขึ้นถึงใต้เข่าได้ การตรวจระดับการบวม
แนะนำให้เปรียบเทียบกับข้างปกติ เพื่อให้ทราบถึงระดับปกติของผู้ป่วยเพราะผู้สูงอายุบางราย
อาจจะมีการบวมบริเวณเท้าและข้อเท้าได้ โดยที่ข้อเท้าจะบวมมากขึ้น เมื่อลงน้ำหนักหรือใช้งานมาก
โดยเฉพาะช่วงเย็น
การผิดรูปของข้อเท้า (deformity) ขนาดของข้อเท้ามักจะมีขนาดใหญ่กว่าอีกข้างอย่างชัดเจน
ซึ่งอาจจะมีสาเหตุมากจากกระดูกที่งอกผิดรูป (osteophyte)
การหนาตัวของเนื้อเยื่อในข้อเท้า (soft tissue hypertrophy)
และการบวมของข้อเท้าประกอบกันทำให้ข้อเท้ามีขนาดใหญ่ขึ้น
ส่วนสุดท้ายที่สำคัญ คือ การตรวจทางเส้นประสาทและเส้นเลือดของเท้าและข้อเท้า (neurovascular examination) เพราะในผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด หากมีระดับความรู้สึกที่ลดลงมาก
(significant neuropathy) จะไม่สามารถผ่าตัดด้วยการเปลี่ยนข้อเท้าเทียมได้
(ankle replacement)9
การส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ (Investigation)
ภาพถ่ายทางรังสี (Imaging)
ภาพถ่ายทางรังสีของข้อเท้ามีความจำเป็น โดยมีประโยชน์เพื่อใช้ในการวินิจฉัยและเพื่องางแผนในการรักษา
สำหรับการวินิจฉัย จะแสดงให้เห็นถึงลักษณะของข้อเท้าเสื่อม ตามมาตรฐานจำเป็นจะต้องถ่ายรังสีในท่ายืน (full weight bearing) ซึ่งจะทำให้ได้ภาพถ่ายที่ตรงกับการใช้งานของข้อเท้า
(functional alignment) มากกว่าการถ่ายในท่านอนหงาย (supine) โดยแนวของกระดูกที่ผิดรูปอาจจะกลับเข้าสู่รูปปกติ หรือรูปแบบที่ผิดปกติน้อยกว่าการไม่ลงน้ำหนัก
ทำให้วางแผนการรักษาคลาดเคลื่อนได้
การตรวจแนวกระดูกแนะนำให้ตรวจทั้ง 3 ระดับ ซึ่งประกอบด้วย
1.
ระดับ supra-malleolar region โดยจะตรวจวัดมุม Anterior
Distal Tibial Angle (ADTA) และ Lateral Distal Tibial Angle
(LDTA) ค่าปกติของ ADTA อยู่ที่ 83 ± 3 องศา10 และค่า LDTA อยู่ที่ 92.4
± 3.1 องศา11 โดยสมรถตรวจได้จาก weight bearing
AP and lateral view of ankle joint หรือตรวจจาก weight
bearing CT
2.
Malleolar region จะต้องดูแนวกระดูกข้อเท้า
(alignment) ว่ามีการเอียงไปด้านใดด้านหนึ่งหรือไม่ (valgus
หรือ varus tilt) การตรวจวัดระดับการเอียงจะใช้
talar tilt angle ในการตรวจวัด โดยจะทำการวัดมุมระหว่างแนวข้อของกระดูก
distal tibia และแนวผิวข้อของกระดูก talus การเอียงไปด้านใดด้านหนึ่งจะบอกถึงจุดที่มีการสึกหรือเกิดการเสื่อมมากที่สุดที่จุดนั้น
รวมถึงจะมีการหดหรือเกิดการตึงตัวของเส้นเอ็น ณ จุดนั้นด้วย เนื่องจากน้ำหนักตัวจะลงผ่านตำแหน่งนั้นมากที่สุด
ส่วนเอ็นด้านตรงข้ามจะมีการยืดหรือหย่อนกว่าปกติ นอกเหนือจากนั้นการตรวจดูระดับความรุนแรงของข้อเท้าเสื่อม
จะสามารถตรวจได้โดยการใช้ single-photon emission computed tomography (SPECT
CT) หากมีการเสื่อมหรือโรคลุกลามมาก ก็จะตรวจพบการเพิ่มขึ้นของรังสีที่ตำแหน่งกระดูก
distal tibia และ talus12
3.
Infra-malleolar region จะใช้
Saltzman view ในการวัดตำแหน่งของ hindfoot โดยดูจุดตำสุดของกระดูกส้นเท้า (lowest part of calcaneus) เทียบกับแนวแกนของกระดูก tibia
หากมีการสึกของกระดูกหรือมีถุงน้ำขนาดใหญ่ (bone defect or large bone cyst) ซึ่งมีการขาดหายไปของกระดูก จำเป็นจะเป็นต้องแก้ไข
โดยการใส่กระดูกไปในจุดที่มีช่องว่างเมื่อทำการรักษาด้วยวิธีการเชื่อมข้อ (filling bone graft) นอกจากนั้นจำเป็นจะต้องดูตำแหน่งของกระดูก talus ว่าอยู่ที่ตำแหน่งใด ซึ่งมีความสำคัญในการเปลี่ยนข้อเท้าเทียม
เพราะการที่ข้อเท้าเลื่อนไปข้างหน้า (anterior subluxation) จะทำให้โอกาสเกิดการสึกของข้อเท้าเทียมได้มากกว่าตำแหน่งของกระดูกปกติ
รูปที่ 1 ภาพถ่ายทางรังสีทางด้านหน้าและด้านข้าง (Weight
bearing AP and lateral ankle radiograph) แสดงให้เห็นถึงข้อเท้าเสื่อม
เห็นกระดูกงอก (marginal osteophyte) ช่องของข้อเท้าที่หายไป
(joint space narrowing) ถุงน้ำใต้กระดูก talus (subchondral bone cyst) และ
การขาวขึ้นของกระดูก subchondral (subchondral sclerosis)
การตรวจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computed tomography)
มีประโยชน์ในการช่วยยืนยันข้อเท้าเสื่อม
โดยสามารถเห็นการงอกของกระดูกได้อย่างชัดเจน (osteophyte) เห็นการเสื่อมและการช่องว่างในกระดูก เช่น bone cyst
or bone defect เห็นแนวกระดูกอย่างชัดเจน ทำให้เป็นประโยชน์การวางแผนในการผ่าตัด
รูปที่ 2 ภาพถ่ายเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ท่า coronal และ sagittal แสดงให้เห็นถึงข้อเท้าเสื่อม มี subchondral
sclerosis, joint space obliteration, marginal osteophyte และ bone
cyst
การแบ่งประเภทของข้อเท้าเสื่อม (Classification)
การจัดประเภทของข้อเท้าเสื่อม Takakura ได้มีการจัดประเภทของข้อเท้าเสื่อม
เป็น 4 ระดับ13
ระดับ 0 มีลักษณะ ความกว้างของข้อเท้าปกติ
แต่มีการขาวขึ้นของชั้นกระดูกหรือมีกระดูกงอก (normal joint space but
early sclerosis and osteophyte formation)
ระดับ 1 มีลักษณะ มีการแคบของข้อด้านใน (Narrowing of joint space medially)
ระดับ 2 มีลักษณะ จะไม่เหลือช่องว่างด้านในของข้อเท้า โดยที่กระดูกชั้น subchondral ของกระดูก tibia และ talus
ทางด้านในจะชนกัน (Obliteration of the joint space with
subchondral bone contact medially)
ระดับ 3 มีลักษณะ จะไม่เหลือช่องว่างด้านในของข้อเท้า โดยที่กระดูกชั้น subchondral ของกระดูก tibia และ talus
ของทั้งข้อเท้าจะชนกัน (Obliteration of the whole joint space with complete bone contact)
แม้การแบ่งประเภทแบบ Takakura จะมีมานานแล้ว
แต่อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ได้รับความนิยมมาก มีการนำมาใช้เฉพาะกลุ่ม หรือใช้มากในบางประเทศเช่น
ญี่ปุ่น13 ส่วนการแบ่งแบบอื่นๆ อาทิเช่น Giannini,14 Cheng,15 และ Krause โดยของ Krause ได้ทำการศึกษา ความน่าเชื่อถือของการวัด
ทั้งแบบ inter- และ intra-observer reliability16แต่อย่างไรก็ตามยังไม่มีการจัดประเภทแบบใด
ที่เป็นการแบ่งแบบสากลและมีการใช้กันอย่างแพร่หลาย
การวินิจฉัย (Diagnosis)
การวินิจฉัย อาศัยประวัติและการตรวจร่างกายดังที่ได้กล่าวไว้เบื้องต้อน
ร่วมกับภาพถ่ายทางรังสีที่แสดงให้เห็นถึง มีตีบแคบลงของข้อเท้า (joint space narrowing) มีการงอกของกระดูก บริเวณรอบๆ ข้อเท้า (marginal osteophyte) มีสีขาวขึ้นของกระดูก subchondral bone (subchondral bone sclerosis)
มีถุงน้ำใต้กระดูก (subchondral bone cyst)
แนวทางการรักษาและผลการรักษา (Line of treatment and outcomes)
การรักษาด้วยการไม่ผ่าตัด (conservative treatment)
การรักษาเบื้องต้นคือการรักษาด้วยการไม่ผ่าตัด จะประกอบด้วย
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
ลดการใช้งานของข้อเท้า ลดน้ำหนักตัว หลีกเลี่ยงกิจกรรม เช่น การยกของหนัก
การเดินไกล หลีกเลี่ยงการขึ้นบันได กรณีที่เกิดข้อเท้าเสื่อมจากเอ็นข้อเท้าหลวม
การใส่ที่พยุงข้อเท้า (ankle
support, brace, or orthosis) จะช่วยลดอาการปวดและเพิ่มความคงที่ของข้อเท้าได้
การใช้ยาในกลุ่ม NSAID opioid หรือ paracetamol สามารถลดอาการปวดได้ ส่วนยาในกลุ่ม glucosamine และ viscosupplement
จากการศึกษาพบว่า การใช้ยาในกลุ่มนี้ไม่ได้ให้ผลในการรักษาดีกว่าการไม่ใช้ยา17 การปรับเปลี่ยนรองเท้า เช่น rocker bottom shoe ทำให้ผู้ป่วยสามารถเดินได้ดีขึ้น
การรักษาด้วยการผ่าตัด (Operative treatment)
การรักษาด้วยการผ่าตัด
ที่ได้ผลการรักษาที่ดี ประอบด้วย การเชื่อมข้อเท้าและการเปลี่ยนข้อเท้า (ankle arthrodesis and ankle replacement)
โดยพบว่าผลลัพธ์ในการรักษาที่ดีถึงดีมากอยู่ที่ 69 เปอร์เซ็นต์ ในกลุ่มที่เปลี่ยนข้อเท้า และ 68 เปอร์เซ็นต์
ในกลุ่มที่เชื่อมข้อเท้า โดยมีอัตราการผ่าตัดซ้ำที่ 9 เปอร์เซ็นต์ในกลุ่มเปลี่ยนข้อเท้า
และ 5 เปอร์เซ็นต์ในกลุ่มเชื่อมข้อเท้า
การผ่าตัดเชื่อมข้อเท้า (ankle arthrodesis or ankle fusion)
การผ่าตัดเชื่อมข้อเท้าสามารถทำได้ทั้งแบบการผ่าตัดแบบเปิดและแบบส่องกล้อง
อัตราการติดของการเชื่อมข้อเท้าของการผ่าแบบเปิดเป็น 90.5 เปอร์เซ็นต์ และการผ่าตัดแบบส่องกล้องเป็น
92.2 เปอร์เซ็นต์18-23การผ่าตัดเชื่อมข้อเท้ามีข้อเสียที่สำคัญ
คือ ผู้ป่วยจะไม่สามารถขับข้อเท้าได้อีกต่อไป ทำให้กิจกรรมบางชนิดไม่ได้สามารถทำได้
หรือทำได้ไม่ดีดังเดิม แต่หากการเชื่อมข้อเท้าสำเร็จ จะมีความแข็งแรงมาก
ผู้ป่วยสามารถทำกิจกรรมที่ใช้แรงมากๆ ได้ ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่อายุน้อย (young age) หรือผู้ป่วยที่จำเป็นต้องทำงานหนัก
(high demand or heavy labor) ซึ่งจะแตกต่างจากการเปลี่ยนข้อเท้าเทียมซึ่งไม่สามารถทำกิจกรรมที่หนักได้
นอกเหนือจากนั้นการที่ข้อเท้าไม่สามารถขยับได้
ทำให้น้ำหนักถูกส่งผ่านไปยังข้อใต้ข้อเท้า ทำให้ข้อใต้ข้อเท้าเสื่อมเร็วกว่าปกติ โดยมีอัตราการเกิดข้อใต้ข้อเท้าเสื่อม
(subtalar arthritis) อยู่ระหว่าง 2.6-5.6 เปอร์เซ็นต์22
การผ่าตัดแบบเปิด จะมีแผลขนาดใหญ่ ซึ่งจะทำให้มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อของแผล
และพบว่าความเร็วในการฟื้นตัวช้ากว่าการผ่าตัดแบบส่องกล้อง แต่จุดเด่นของการผ่าตัดแบบเปิด
สามารถที่จะใส่กระดูกเป็นชิ้น (structural bone graft) ในกรณีที่มีช่องว่างของกระดูกขนาดใหญ่
(large bone defect) รวมถึงสามารถยึดด้วยแผ่นเหล็ก (plate
fixation) ซึ่งมีความแข็งแรงมากกว่าการใช้ screws
ซึ่งการผ่าตัดแบบส่องกล้อง ผู้ป่วยจะพื้นตัวได้รวดเร็วกว่า
มีอัตราการติดของกระดูกที่สูงกว่า และมีขนาดของแผลที่เล็กว่าทำให้โอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนจากแผลลดลง
แผลเป็นมีขนาดเล็ก และมีความสวยงามของแผลมากกว่าเนื่องจากมีขนาดเล็ก
แต่อย่างไรก็ตาม มีข้อจำกัดหากผู้ป่วยมีข้อเท้าผิดรูปมาก (severe malalignment varus or valgus
> 15 degrees) การผ่าตัดส่องกล้องจะไม่สามารถทำได้ ควรต้องทำด้วยวิธีการผ่าตัดแบบเปิด
รูปที่ 3 แสดงให้เห็นวิธีการส่องกล้องเพื่อเชื่อมข้อเท้า
โดยการใช้ anteromedial (AM) และ anterolateral portals (AL) สามารถชมรายละเอียดการผ่าตัดข้อเท้าเทียมได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=w_qNjMSD-zA
รูปที่ 4 แสดงให้เห็นวิธีการส่องกล้องเพื่อเชื่อมข้อเท้า
ภาพซ้ายแสดงให้เห็นว่ากระดูกอ่อนได้หายไปบริเวณ talus เป็นบริเวณกว้าง ส่วนรูปทางขวาแสดงให้เห็นของกระดูก
tibia และ talus ภายหลังที่ได้มีการเตรียมผิวข้อแล้ว
โดยการเจาะเป็นหลุมเล็กๆ คล้ายผิวลูกก๊อฟ (golf ball surface preparation)
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเท้าเทียม (ankle replacement or ankle arthroplasty)
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเท้าปัจจุบันเป็นที่นิยมมาก
เนื่องจากผู้ป่วยยังสามารถที่จะขยับข้อเท้าได้ ทำให้สามารถทำกิจกรรมได้ใกล้เคียงกับก่อนผ่าตัด
จากงานวิจัยในปัจจุบันแสดงให้เห็นถึงว่า ผู้ป่วยที่เปลี่ยนผ่าตัดข้อเท้าเทียม มีความพึงพอใจมากกว่าการผ่าตัดเชื่อมข้อเท้า
แต่อย่างไรก็ตามข้อด้อยของข้อเท้าเทียมซึ่งจะเหมือนกับข้อเทียมที่ตำแหน่งอื่น คือ
จะมีอายุการใช้งาน โดยที่ข้อเท้าเทียมจะทนและใช้งานได้เกิน 10 ปีอยู่ที่ร้อยละ 69-8724-26โดยขึ้นกับชนิดและรูปแบบที่ใช้ โดยพบว่ารุ่นใหม่มีอายุการใช้งานที่นานมากกว่ารุ่นแรก
ผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มที่เหมาะสมในการเปลี่ยนข้อเท้า
คือ ผู้ป่วยที่อายุมากว่า 60-65 ปี มีระดับการทำกิจกรรมที่ไม่มาก
(low demand) แต่ปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะทำการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเท้าในผู้ป่วยที่อายุน้อยลง
ผู้ป่วยที่มีประวัติการติดเชื้อที่กระดูก มีกระดูกขาดเลือดเป็นวงกว้าง (diffuse
osteonecrosis) มีช่องว่างขนาดใหญ่ที่กระดูก (large bone
defect) ผู้ป่วยที่มีภาวะกระดูกพรุนอย่างรุนแรง (severe
osteoporosis) มีประวัติการใช้ยาสเตียรอยด์หรือยากดภูมิคุ้มกันเป็นเวลานาน
ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยที่มีปัญหาเส้นประสาททำงานไม่ปกติที่บริเวณข้อเท้า (neuropathy) ผู้ป่วยที่สูบบุหรี่ ผู้ป่วยที่มีระดับกิจกรรมและการเล่นกีฬา เช่น การวิ่ง
เทนนิส การเล่นสกี เป็นต้น ผู้ป่วยที่มีข้อเท้าเอียงผิดรูปมาก varus or valgus
tilt มากกว่า 10-15 องศา
รูปที่ 5 ขั้นตอนการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเท้า แสดงแนวกระดูกที่จะทำการตัด
โดยใช้อุปกรณ์บริษัท Cadence ซึ่งเป็น fixed bearing
design สามารถชมรายละเอียดการผ่าตัดข้อเท้าเทียมได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=r0KfauxF8yo&t=151s
รูปที่ 6 แสดงให้เห็นขึ้นข้อเท้าเทียมทางด้านบนและด้านล่าง และ polyethylene
ระหว่างข้อเทียม
เอกสารอ้างอิง (Reference)
1. Saltzman
CL, Salamon ML, Blanchard GM, et al. Epidemiology of ankle arthritis: report of
a consecutive series of 639 patients from a tertiary orthopaedic center. Iowa Orthop J. 2005;25:44-46.
2. Glazebrook M, Daniels T, Younger A,
et al. Comparison of health-related quality of life between patients with
end-stage ankle and hip arthrosis. J Bone
Joint Surg Am. 2008;90(3):499-505.
3. Daniels T, Thomas R. Etiology and
biomechanics of ankle arthritis. Foot and
ankle clinics. 2008;13(3):341-352, vii.
4. Thomas RH, Daniels TR. Ankle
arthritis. J Bone Joint Surg Am. 2003;85-A(5):923-936.
5. Valderrabano V, Horisberger M,
Russell I, Dougall H, Hintermann B. Etiology of ankle osteoarthritis. Clin Orthop Relat Res. 2009;467(7):1800-1806.
6. Brown TD, Johnston RC, Saltzman CL,
Marsh JL, Buckwalter JA. Posttraumatic osteoarthritis: a first estimate of
incidence, prevalence, and burden of disease. J Orthop Trauma. 2006;20(10):739-744.
7. Barg A, Pagenstert GI, Hugle T, et
al. Ankle osteoarthritis: etiology, diagnostics, and classification. Foot and ankle clinics. 2013;18(3):411-426.
8. Valderrabano V, Nigg BM, von
Tscharner V, Frank CB, Hintermann B. J. Leonard Goldner Award 2006. Total ankle
replacement in ankle osteoarthritis: an analysis of muscle rehabilitation. Foot Ankle Int. 2007;28(2):281-291.
9. Hayes BJ, Gonzalez TA, Smith JT, Chiodo
CP, Bluman EM. Ankle Arthritis: You Can't Always Replace It. Instr Course Lect. 2016;65:321-330.
10. Magerkurth O, Knupp M, Ledermann H,
Hintermann B. Evaluation of hindfoot dimensions: a radiological study. Foot Ankle Int. 2006;27(8):612-616.
11. Knupp M, Ledermann H, Magerkurth O,
Hinterman B. The surgical tibiotalar angle: a radiologic study. Foot Ankle Int. 2005;26(9):713-716.
12. Knupp M, Pagenstert GI, Barg A,
Bolliger L, Easley ME, Hintermann B. SPECT-CT compared with conventional
imaging modalities for the assessment of the varus and valgus malaligned
hindfoot. J Orthop Res. 2009;27(11):1461-1466.
13. Takakura Y, Tanaka Y, Kumai T, Tamai S.
Low tibial osteotomy for osteoarthritis of the ankle. Results of a new
operation in 18 patients. J Bone Joint
Surg Br. 1995;77(1):50-54.
14. Giannini S, Buda R, Faldini C, et al.
The treatment of severe posttraumatic arthritis of the ankle joint. J Bone Joint Surg Am. 2007;89 Suppl
3:15-28.
15. Cheng YM, Huang PJ, Hong SH, et al. Low
tibial osteotomy for moderate ankle arthritis. Archives of orthopaedic and traumatic surgery Archiv fur orthopadische
und Unfall-Chirurgie. 2001;121(6):355-358.
16. Krause FG, Di Silvestro M, Penner MJ,
et al. The postoperative COFAS end-stage ankle arthritis classification system:
interobserver and intraobserver reliability. Foot Ankle Spec. 2012;5(1):31-36.
17. Faleiro TB, Schulz Rda S, Jambeiro JE,
Tavares A, Delmonte FM, Daltro Gde C. Viscosupplementation in Ankle
Osteoarthritis: A Systematic Review. Acta
Ortop Bras. 2016;24(1):52-54.
18. Huang YZ, Zeng XT, Wang J, Zhao JG.
Arthroscopic Versus Open Ankle Arthrodesis. Arthroscopy.
2018;34(7):2010.
19. Quayle J, Shafafy R, Khan MA, Ghosh K,
Sakellariou A, Gougoulias N. Arthroscopic versus open ankle arthrodesis. Foot Ankle Surg. 2018;24(2):137-142.
20. Honnenahalli Chandrappa M, Hajibandeh
S, Hajibandeh S. Ankle arthrodesis-Open versus arthroscopic: A systematic
review and meta-analysis. J Clin Orthop
Trauma. 2017;8(Suppl 2):S71-S77.
21. Park JH, Kim HJ, Suh DH, et al.
Arthroscopic Versus Open Ankle Arthrodesis: A Systematic Review. Arthroscopy. 2018;34(3):988-997.
22. Yasui Y, Vig KS, Murawski CD, Desai P,
Savage-Elliott I, Kennedy JG. Open Versus Arthroscopic Ankle Arthrodesis: A
Comparison of Subsequent Procedures in a Large Database. J Foot Ankle Surg. 2016;55(4):777-781.
23. Townshend D, Di Silvestro M, Krause F,
et al. Arthroscopic versus open ankle arthrodesis: a multicenter comparative
case series. J Bone Joint Surg Am. 2013;95(2):98-102.
24. Haddad SL, Coetzee JC, Estok R, Fahrbach
K, Banel D, Nalysnyk L. Intermediate and long-term outcomes of total ankle
arthroplasty and ankle arthrodesis. A systematic review of the literature. J Bone Joint Surg Am. 2007;89(9):1899-1905.
25. Bartel AF, Roukis TS. Total Ankle
Replacement Survival Rates Based on Kaplan-Meier Survival Analysis of National
Joint Registry Data. Clinics in podiatric
medicine and surgery. 2015;32(4):483-494.
26. Henricson A, Nilsson JA, Carlsson A.
10-year survival of total ankle arthroplasties: a report on 780 cases from the
Swedish Ankle Register. Acta Orthop. 2011;82(6):655-659.
ความคิดเห็นนี้ถูกลบโดยผู้ดูแลระบบของบล็อก
ตอบลบ