วันศุกร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ข้อเท้าพลิก (Acute Ankle Sprain)

โรคข้อเท้าพลิก (Acute Ankle Sprain)



                ข้อเท้าพลิกเป็นการบาดเจ็บที่พบได้ในทุกช่วงอายุและทุกเพศทุกวัย แต่เราจะพบอุบัติการณ์มากมากที่สุดจากอุบัติเหตุจากการกีฬา (Sport Injury)(1) และโดยส่วนมากผู้ป่วยจะมีอายุน้อยกว่า 35 ปี โดยอายุที่พบมากที่สุดคือ ระหว่าง 15-19 ปี  ซึ่งพบการบาดเจ็บจากข้อเท้าพลิกเข้าด้านในมากถึง 10,000 คน ต่อวัน(2) การบาดเจ็บอาจจะเป็นเพียงเล็กน้อยหรืออาจจะรุนแรงมากจนมีตาตุ่มทางด้านนอกแตก (Avulsion Fracture of The Lateral Ligament) ร่วมกับมีการบาดเจ็บของกระดูกอ่อน (Osteochondral Injury) และข้อเท้าหลวม (Lateral Ankle Instability) หากไม่ทำการรักษาหรือรักษาแล้วไม่หาย ผู้ป่วยมีโอกาสจะเกิดข้อเท้าหลวมแบบเรื้อรัง (Chronic Ankle Instability) และอาจนำไปสู่ข้อเท้าเสื่อมได้ (Ankle Arthritis) (3)

                ลักษณะทางกายวิภาคของข้อเท้าทางด้านนอก ประกอบด้วยเอ็นยึดระหว่างกระดูกตาตุ่มทางด้านนอก (Lateral Malleolus) กับกระดูกข้อเท้า (Talus) อยู่ 3 เอ็น คือ 1. Anterior Talofibular Ligament (ATFL) ซึ่งมักจะจะได้รับการบาดเจ็บ 2 ใน 3 จากการบาดเจ็บจากข้อเท้าพลิกเนื่องจากเป็นเอ็นที่อ่อนแอที่สุด และจะตึงในท่าข้อเท้ากระดกลง ซึ่งเป็นท่าที่เท้าเกิดการบาดเจ็บจากข้อเท้าพลิก 2. Calcaneofibular Ligament (CFL) เป็นเอ็นที่แข็งแรงที่สุดในกลุ่มนี้ แต่ก็สามารถฉีกขาดได้ โดยพบการฉีกขากของเอ็นเส้นนี้ร่วมกับ ATFL ได้ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ 3. Posterior Talofibular Ligament มักจะไม่ได้รับการบาดเจ็บเนื่องเอ็นเส้นนี้จะหย่อนเมื่อกระดกข้อเท้าลงและมันแข็งแรงกว่า ATFL 3 เท่า (4)

                กลไกของการบาดเจ็บเกิดจากการลงผิดท่าของเท้า ทำให้ข้อเท้าพลิก บิด หรือหมุน ซึ่งส่วนมากของผู้ป่วยจะพลิกเข้าด้านใน (Inversion injury) ผู้ป่วยจะมีอาการบวม ปวดที่ด้านนอกของเท้าตรงบริเวณตาตุ่มด้านนอก ในบางรายจะไม่สามารถลงน้ำหนักเท้าที่บาดเจ็บได้ โดยการได้ยินเสียงดังคล้ายเส้นเอ็นขาดไม่ได้เป็นตัวบอกว่าเอ็นจะขาดหรือไม่ แต่หากมีการบวมเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมักจะสัมพันธ์กับการขาดของเอ็นมากว่ากลุ่มที่มีการบวมของข้อเท้าตามมาทีหลัง (3)

                การตรวจร่างกายในระยะแรกหลังการบาดเจ็บทันที จะไม่สามารถแยกระดับความความรุนแรงได้อย่างถูกต้องเนื่องจากมีการบวม เจ็บและการหดเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ การตรวจร่างกายภายหลังจึงนิยมใช้เมื่ออาการปวดและบวมลดลง ซึ่งมีความแม่นยำมากกว่า (5)  ระดับของการบาดเจ็บ มีทั้งหมด 3 ระดับ โดยอาศัยการตรวจร่างกายช่วยในการแยกระดับความรุนแรง ระดับที่ 1 ไม่มีการขาดของเอ็น ระดับที่ 2 มีการขาดของเอ็นบางส่วน ซึ่งข้อเท้าจะไม่หลวมจากการตรวจร่างกาย ระดับที่ 3 มีการขาดของเอ็นทั้งหมด โดยจะพบว่ามีข้อเท้าหลวมจากการตรวจร่างกาย

       การรักษาเบื้องต้น ประกอบด้วย RICE; R = Rest การพักเท้าและข้อเท้าข้างนั้น โดยการหยุดเล่นกีฬานั้น (Rest) Ice การประคบเย็นเพื่อการบวมและปวดของข้อเท้า Compression โดยการใช้สำลีและผ้าพันแผล สามารถลดอาการปวดของข้อเท้าได้ และ Elevation การยกขาสูงเพื่อลดอาการบวม โดยลดเลือดคั่งไปยังจุดที่เกิดการบากเจ็บและทำให้เลือดไหลเข้าสู่หัวใจได้ดีขึ้น  

                อย่างไรก็ตาม หากการักษาโดยการไม่ผ่าตัดไม่ประสบความสำเร็จ  โดยที่ผู้ป่วยยังมีอาการปวดและข้อเท้าหลวมอยู่ อาจจะต้องนำมาพิจารณาในผู้ป่วยกลุ่มนี้

การผ่าตัดแบ่งเป็น

การผ่าตัดแบบเปิด (Open modified Brostrom and Gould procedue)
เป็นการรักษาที่ถือเป็นมาตรฐาน (Standard Treatment)โดยเปิดเข้าเย็บซ่อมเอ็น แต่แผลผ่าตัดจะมีขนาดใหญ่และมีโอกาสเสี่ยงต่อแผลติดเชื้อหรืออาการปวดจากแผลเป็น

การรักษาโดยการส่องกล้อง (Arthroscopy)

                การรักษาโดยการส่องกล้องเป็นที่นิยมในปัจจุบันนี้ แต่ยังคงเป็นทางเลือกในการผ่าตัด (Alternative Treatment) เนื่องจากผลประโยชน์จากเรื่องขนาดที่เล็กลงของแผลผ่าตัด การฟื้นตัวที่รวดเร็วขึ้น ผู้ป่วยสามารถกลับเข้าสู่สังคมได้รวดเร็วมากขึ้น แต่ก็ยังมีปัญหาจากปลายประสาทที่เกิดการบาดเจ็บจากรักษาด้วยวิธีนี้ได้

1 ความคิดเห็น: